Skip to content

ใช้มาจนคุ้มเหลือเกินกับร่างเดิมของ KX250F โดยเฉพาะในส่วนของเฟรมที่ยังคงใช้งานได้ดี แต่ทุกอย่างต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อให้เกิดการพัฒนา ดังนั้นในรุ่นปี 2017 KX250F จึงถึงเวลาเปลี่ยนแปลงใหม่หมดจดทั้งร่าง และเมื่อได้ลองขับขี่จะพบว่าตั๊กแตนสลาตันโฉมใหม่นี้ได้ทิ้งคาแรคเตอร์เดิมไปจนหมดสิ้น

ความตื่นเต้นเมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงนั้นมีมาก แต่กว่าจะได้สัมผัสตัวจริงเป็นๆ ของ KX250F ปี 2017 บรรดาสิงห์โมโตครอสชาวไทยก็เป็นอะไรที่หลายคนลังเล หรือบางคนนอกใจไปเลยก็มี เนื่องจากขั้นตอนการนำเข้าและส่งถึงมือลูกค้านั้นมันกินเวลายาวนานกว่าทุกปีที่ผ่านมาเกือบครึ่งปี คอลัมน์ MX Sample ก็เลยต้องดึงเวลารอเพื่อพบเจอและสัมผัส เมื่อได้ทดลองขับขี่ก็พบว่าคุ้มค่ากับเรื่องราวที่จะนำมาบอกเล่ากันจริงๆ

เปลี่ยนเฟรมเปลี่ยนความรู้สึก
ความเปลี่ยนแปลงแรกที่จะสัมผัสได้จากการคร่อมขี่ก็คือเฟรมใหม่ที่เปลี่ยนความรู้สึกตั้งแต่ยังไม่ได้สตาร์ทเครื่องขี่รถออกไป แค่ขึ้นไปคร่อมบนรถจะพบว่าความกว้างบริเวณถังน้ำมันนั้นถูกบีบให้เล็กแคบกว่ารุ่นก่อนมากมาย รวมถึงคอเฟรมที่ต่ำลงทำให้รู้สึกว่าแฮนด์นั้นสูงโด่งขึ้นมา ด้วยความต่ำของเฟรมทำให้ระดับของเบาะนั้นแทบจะขนานไปกับพื้นทำให้การขยับตัวหน้าหลังไม่ยากอีกต่อไป เป็นความรู้สึกที่ไม่ต้องสังเกตก็ชัดเจนขึ้นมาทันที การเปลี่ยนแปลงของเฟรมและส่วนประกอบอื่นหลายจุดทำให้ KX250F ปี 2017 นั้นเบากว่าปีก่อนถึง 1.7 กิโลกรัม แน่นอนว่ามันส่งผลต่อการขับขี่โดยตรง อีกจุดเด่นในส่วนของการปรับแฮนด์และพักเท้าก็ยังคงได้รับการใส่ใจ

เครื่องยนต์ลดความห้าว
KX250F เป็นโมโตครอสรุ่นเดียวที่ใช้ระบบ 2 หัวฉีด และเลื่องลือในเรื่องความจัดจ้านของพละกำลัง ในปี 2017 ก็ยังคงเป็น 2 หัวฉีด แต่เครื่องยนต์ที่ได้รับการปรับปรุงภายในและส่วนประกอบอื่นๆ อย่างมากมาย ทำให้นิสัยใจคอที่เคยโหดห้าวได้ถูกปรับเปลี่ยนให้ลดความก้าวร้าวไปพอสมควร เน้นการให้กำลังที่ควบคุมง่ายที่รอบต่ำถึงปานกลางด้วยแรงขับที่ไม่น่าตกใจ แต่ยังคงให้ทางเลือกสำหรับการปรับเปลี่ยนย่านกำลังด้วยคัปเลอร์ (ปลั๊กเสียบ) สำเร็จรูป 3 โหมดที่คุ้นเคยเหมือนเดิม พร้อมระบบลันช์คอนโทรลช่วยในการออกสตาร์ท ตำแหน่งการจัดวางอุปกรณ์ไฟฟ้าหาที่วางใหม่ทำให้ส่วนห้องเครื่องดูเล็กและโปร่งโล่งกว่าเดิม

กันสะเทือนลดตามน้ำหนัก
ยังคงเป็น Showa SFF โช้คหน้าสปริงและน้ำมันแยกข้างกันแต่เป็นการพัฒนาล่าสุด ในปี 2017 นี้ได้ลดความแข็งของสปริงให้มีความนุ่มนวลกว่าเดิม คนขี่น้ำหนักไม่ถึง 70 กก. แทบจะลงตัวทั้งโช้คหน้าและหลัง ด้วยระบบเดิมที่คุ้นเคยกันดีไม่มีอะไรพิเศษ เหตุผลหนึ่งของการลดความแข็งสปริงน่าจะมาจากน้ำหนักตัวรถที่เบาลง กับมิติของรถที่ต้องใช้การขับขี่ที่แตกต่างจากเดิม

พลาสติกใหม่
เป็นรูปแบบที่เห็นมาแล้วจาก KX450F ปี 2016 เพื่อความสะดวกในการขยับเคลื่อนตัวชิ้นกลางจึงเน้นรอยต่อน้อยจุด ป้ายเบอร์หน้านอกจากเว้าเยอะแล้วยังมีมุมนูนออกมาด้วย บังโคลนหน้าและหลังเน้นกว้างและหนา โดยเฉพาะด้านท้ายมองดูละม้ายของรถเล็ก KX85 ยุค ’90 กลางๆ อย่างบอกไม่ถูก แน่นอนสีสันยังคงเป็นสีเดียว เขียวประจำค่ายไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าราคาจะปรับลดลงแต่ก็ยังคงเป็นโมโตครอสที่ราคาขายสูงกว่าค่ายอื่นอยู่ดี ต้องขอขอบคุณเจ้าของรถ เสี่ยหลัวร้อยเอ็ด คุณวิริช ธนะแพสย์ สำหรับการให้โอกาสได้ทดลองขับขี่รีวิว ขอบคุณศรีสกลมอเตอร์สปอร์ตสำหรับการประสานงาน ชุดนักทดสอบจากร้านเดิร์ทช็อพ เครื่องดื่ม GSD เพิ่มความสดชื่นทุกการเดินทาง และขาดไม่ได้ผู้สนับสนุนคอลัมน์ดีๆ วงล้อ YOKO และน้ำมันเครื่อง GPR

คอเฟรมกดลงต่ำกับถังน้ำมันที่โผ่ลมาแค่ฝา

ดูเอาเองว่าเฟรมใหม่มันบีบได้แคบขนาดไหน

ขายในไทยได้รูกรองข้างเดียว

ลันช์คอนโทรลช่วยออกตัวยังมีมาให้

โช้คอัพเจ้าเดิมที่เพิ่มคือนุ่มมากขึ้น

เบาะกับถังจะราบเป็นระนาบเดียว

เครื่องยนต์ปรับใหม่ละมุนละไมขึ้น

ดิสก์หน้า 270 มม.ไม่มีการ์ด

ข้อมูลเทคนิค
เครื่องยนต์ 249 ซีซี 4 จังหวะ 1 สูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ DOHC
กระบอกสูบ 77 มม.
ระยะชัก 53.6 มม.
อัตราส่วนการอัด 13.7 : 1
ระบบเชื้อเพลิง 2 หัวฉีด DFI 43 mm. Keihin
สตาร์ท เท้า
ระบบหล่อลื่น กึ่งแห้ง
เกียร์ 5 สปีด
คลัทช์ แบบเปียกหลายแผ่น
ระบบจุดระเบิด Digital DC-CDI
ขับเคลื่อน โซ่ 520 สเตอร์ 13/50
เฟรม อลูมินัม
แรค/เทรล 28.5 องศา / 5.0 นิ้ว
โช้คหน้า Showa SFF 48 mm. ปรับพรีโหลด,
คอมเพรสชั่น 22 คลิก,รีบาวด์ 20 คลิก
โช้คหลัง โช้คเดี่ยว Showa ปรับคอมเพรสชั่นความเร็วสูง 4 รอบและ
ความเร็วต่ำ 19 คลิก,รีบาวด์ 22 คลิกและปรับความแข็งของสปริง
เบรกหน้า ดิสก์เบรกจานเดี่ยว 270 มม. คาลิเปอร์ลูกสูบคู่
เบรกหลัง ดิสก์เบรกจานเดี่ยว 240 มม. คาลิเปอร์ลูกสูบเดี่ยว
ยางหน้า 80/100-21
ยางหลัง 100/90-19
ถังน้ำมันจุ 6.4 ลิตร
ยาว 2,169 มม.
กว้าง 820 มม.
สูง 1,264 มม.
สูงจากพื้น 320 มม.
ระยะฐานล้อ 1,475 มม.
สูงถึงเบาะ 340 มม.
น้ำหนัก 104.5 กก.

ความเห็นนักทดสอบ / เขมรัฐ สุธรรมวาท
“เหวอครับ! … เหวอคืออาการประหลาดใจทำอะไรไม่ถูก มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ กับการขี่ KX250F ปี 2017 เป็นครั้งแรก ขึ้นไปคร่อมรถก่อน แฮนด์รุ่นเดิมทรงเก่าคุ้นกันดี แต่ที่ไม่คุ้นเลยคือคอเฟรมที่พาเอาถังน้ำมันลงไปอยู่ต่ำกว่าเดิมมาก ยังกะรถ 85 ซีซี เริ่มขี่ด้วยการสตาร์ทเครื่องยนต์ กดกระแทกไม่ติดครับ ต้องกดแบบเนือยๆ หน่อย ติดง่ายๆ เลย บีบคลัทช์ เข้าเกียร์ ขี่ออกไปด้วยท่ายืนแล้วต้องก้มมองเข่าตัวเอง มันจะแคบอะไรขนาดนี้ ช่วงกลางของตัวรถที่เข่าสัมผัสนั้นแคบบางกว่าปี 2016 มากมายก่ายกองครับ เฟรมใหม่ KX250F ปี 2017 รีดมาได้แคบมากจริงๆ มิติของรถที่ต่างจากเดิมมากๆ ทำให้ต้องหาสมดุลในการขี่กันใหม่เลยทีเดียวครับ แค่เรื่องเลี้ยวนี้ต้องลองกันอยู่นานเพราะแฮนด์สูง เบาะต่ำ พอนั่งเลี้ยวได้แล้ว ลองยืนเลี้ยวโค้งกว้าง เอ…ทำไมรถมันดิ้นง่ายจังหว่า? ลองลุยระนาดดู …อื้อหือ รถในหว่างขามันหายไปไหน? ท้ายก็ดิ้นซะอีก เอ๊ะ…หรือว่าเราจะยังไม่คุ้นกับรถ เดี๋ยวๆ รอเสี่ยหลัวเจ้าของรถมาขี่ไกด์ดีกว่า ก็ยืนดูเสี่ยหลัวขี่ครับ ผลก็คือลุยระนาดไม่รอดเหมือนกัน อ้าว…เราไม่ได้เป็นคนเดียวนี่นา ลองใหม่อีกทีด้วยการปรับท่าขี่ใหม่ เลี้ยวแคบและแบงค์แบบลีนเอาท์ นั่งกลางๆ ไม่ต้องสวมหน้ามาก ยืนขี่ค่อนไปข้างหลังอีกหน่อยยันแขนกับขาไปข้างหน้าอีกนิด อึมดีขึ้น…และดียิ่งขึ้นเมื่อลองเปลี่ยนปลั๊กไฟจุดระเบิดเป็นสีขาว เรียกกำลังเครื่องยนต์ให้ตอบสนองเร็วขึ้น ช่วยให้การใช้คันเร่งคุมรถง่ายขึ้น ซึ่งกำลังของเครื่องยนต์นั้นลดความดุเดือดลงไปชัดเจน เช่นเดียวกับกันสะเทือนที่ส่วนตัวแล้วผมชอบมาก ความแข็งสปริงมันเหมือนทำมาเพื่อน้ำหนักมาตรฐานคนเอเชีย ทำให้ KX250F ปี 2017 เป็นรถที่ขี่ง่ายไม่กระด้าง ที่ต้องปรับตัวก็เห็นจะเป็นเรื่องมิติรถที่มีผลต่อการควบคุม ซึ่งพอคุ้นแล้วจะสนุกกับความเล็กและเบาของมันมากมายครับ
ถึงจะเป็นรถที่จำหน่ายช้ากว่าค่ายอื่น การตัดสินใจซื้อ KX250F ปี 2017 ตอนกลางปีก็ไม่มีอะไรต้องลังเล เพราะเฟรมนี้ก็ต้องใช้ไปอย่างน้อยอีก 4 ปี แต่ที่เหมาะมากคือกันสะเทือนที่พอดี เรื่องความแรงของเครื่องยนต์เพิ่มง่ายกว่าจากระบบหัวฉีด เป็นมิติใหม่ของ KX250F ที่ไม่เหมือนใครในตอนนี้ครับ”