Skip to content
2017 TC125 ขาวปลอดยอดอัศวิน 2 จังหวะ

หายไปนานกับโมโตครอส 2 จังหวะเมื่อกระแสโลกสวยด้วยมือเรามาพรากเอาไปแล้วให้บิด 4 จังหวะกันจนชิน ทว่ายังมีความนิยมที่แฝงเร้นทำให้ยังมีการผลิตสนองความต้องการของตลาด แม้แทบจะลาขาดจากสนามแข่งแต่ความแรงของ 2 จังหวะยังเป็นที่โหยหาของนักบิดที่เคยได้ลิ้มลอง TC125 ปี 2017 คือตัวเลือกที่ครอบครองได้อย่างสะดวกใจในราชอาณาจักรไทยขณะนี้

เทคโนโลยีเบสิค
ด้วยการผลักดันจากส่วนใดก็แล้วแต่ เทคโนโลยีรถโมโตครอส 4 จังหวะก้าวไกลถึงขนาดใส่แทร็คชั่นคอนโทรลกันไปแล้ว แต่กับ TC125 ยังคงเป็นรถแข่งแบบดิบๆ ที่พร้อมหยิบยื่นความแรงแบบจริงใจไม่ซับซ้อนจากกลไกที่ใช้มาตั้งแต่ยุคอนาลอค เครื่องยนต์ 2 จังหวะ สูบเดียวระบายความร้อนด้วยน้ำ พร้อมระบบเพาเวอร์วาล์ว ยังคงได้รับการป้อนเชื้อเพลิงจากคาร์บูเรเตอร์มิคูนิ 38 มม.แฟลตสไลด์ที่ไร้แจ็คเสียบและสายไฟ สิ่งที่ฮัสควาน่าทำคือย่อและรีดน้ำหนักของเครื่องยนต์ให้เล็กและเบาที่สุดด้วยวัสดุที่เลือกสรร ขนาดฝาครอบจานไฟยังใช้พลาสติก เห็นดิบๆ อย่างนี้ 40 แรงม้าก็มาเต็มๆ นะ

เฟรมลูกผสม
เช่นเดียวกับไลน์ของโมโตครอส 4 จังหวะ TC125 ปี 2017 ได้มาไม่น้อยหน้าด้วยเฟรมเหล็กโครโมลิบ ดินั่ม ส่วนซับเฟรมด้านท้ายใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งนอกจากจะเบาแล้วยังขึ้นรูปง่ายทำให้ดีไซน์เป็นที่จัดวางอุปกรณ์พร้อมหม้อกรองอากาศได้ในตัวเดียวกัน เป็นการผสมผสานทั้งเทคโนโลยีและการใช้งานที่ฉลาดลงตัวมาก

กันสะเทือนอัพเกรด
เป็นส่วนที่ได้ประโยชน์ตามยุคสมัยมากที่สุด เพราะสามารถนำเอาเทคโนโลยีกันสะเทือนของยุคใหม่เข้ามาใส่ในรถอนุรักษ์นิยมได้อย่างไม่ติดขัด แน่นอนว่าเป็นสัมปทานงานเหมาของเจ้าเดิม WP คราวนี้ให้มาเป็นรุ่นล่าสุด AER48 ที่ไม่ต้องใช้สปริงแล้ว ส่วนโช้คหลังเดี่ยวก็พัฒนาควบคู่กันไปด้วยรหัส DCC ที่ทำงานคู่กับกระเดื่องทดแรงซึ่งระบบการทำงานคุ้นเคยกันดี

แม้แต่ปลอกแฮนด์ก็ยังเลือกของแบรนด์เนม

ปั๊มมือสำหรับสูบลมโช้คหน้า

ปั๊มคลัทช์ของ MAGURA

เครื่องยนต์เล็กห้องเครื่องโล่งเพื่อเซอร์วิส

ชิ้นไหนแจมอะไหล่ได้ดูง่ายเลย

พักเท้าตัว Y เหยียบสบายกว้างมาก

AER48 ให้สามผ่าน!!!

งานเบรกของเบรมโบ้ทั้งเซ็ต

มีดีต้องโชว์ ปลายซับเฟรมคาร์บอน

ของดีรอบคัน
แม้ว่าค่ายต่างๆ จากแดนอาทิตย์อุทัยจะปรับปรุงตัวด้วยการเริ่มเลือกใช้อุปกรณ์จากผู้ผลิตเฉพาะทางที่มีชื่อเสียงมาใช้ในรถตัวเองบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เท่าที่ฮัสควาน่าจัดหามาประดับ แฮนด์โปรเทเปอร์พร้อมปลอกแฮนด์ ODI แถมยังให้การ์ดแฮนด์มาอีก ก้านบีบทั้ง 2 ด้านเป็นการสั่งงานผ่านระบบน้ำมันด้วยปั๊มเบรกเบรมโบ้และปั๊มคลัทช์มากูระ พักเท้าขนาดกว้างใหญ่ ขาเกียร์ทรงไม่คุ้นตากับการวางตำแหน่งที่ห่างจากพักเท้ามากกว่าที่คุ้นเคย การ์ดเฟรมกันสีถลอกถึงไม่บอกยี่ห้อก็รู้สึกดีที่มีมาให้ แถมยังได้ตัวนับชั่วโมงการทำงานของเครื่องยนต์ติดมาให้บนแผงคอ เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับรถโมโตครอสที่ต้องการการดูแลบ่อยครั้งกว่ารถใช้งานทั่วๆ ไป

ขอขอบคุณ คุณวิรัช ธนะแพสย์ แห่งโรงกลึงเจริญยนต์ร้อยเอ็ด ที่ยังคงจัดเต็มกันเหมือนเดิม พร้อมการสนับสนุนจากน้ำมันเครื่อง GPR และวงล้อ YOKO SUPER 7 ขาดไม่ได้คือชุดนักทดสอบจาก DirtShop และเครื่องดื่ม GSD สดชื่นตลอดการเดินทาง รวมถึงผู้อ่านทุกๆ ท่าน อย่าลืมคลิกไปชมคลิปวิดีโอการทดสอบกันด้วยนะ

ความเห็นนักทดสอบ “เขมรัฐ สุธรรมวาท”
“เล็ก บาง เบา สั้น สูง แรงมั้ยตอบว่าแรง รอบเครื่องมันยังมีช่วงเวลาให้เราพอจะเตรียมตัวรับมือกับมันได้บ้าง อันนี้คือปรับนมหนูลงมาแล้วนะครับ เดิมๆ ต้องคุยกันที่รอบสูงๆ อย่างเดียวเลย ยังไม่มีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น การควบคุมทุกอย่างจะต้องมาจากคนขี่ทั้งหมด มิติรถที่โดดเด่นคือความสูง สูงมากจนจะสตาร์ททีต้องหาที่สูงๆ เหยียบจะง่ายกว่า ดีที่ว่าแรงต้านจากคันสตาร์ทมันไม่มากมาย สตาร์ทติดง่ายครับ มิติที่เล็กและน้ำหนักที่เบามันทำให้เลี้ยวโค้งได้ง่ายด้วยครับ เป็นรถที่เลี้ยวง่ายมาก จับไลน์เลี้ยวได้แบบไม่น่ากลัว ก่อนวาล์วเปิดก็มีแรงบิดบางๆ ดันส่งเหมือนกัน แต่ถ้าวาล์วเปิดล่ะก็ความมันส์มาเยือนแน่นอนครับ ส่วนการควบคุมนี่ผมชอบมาก เพราะตัวรถเขาเล็กแล้วก็เบา ผนวกกับการใช้กันสะเทือนที่ถือว่าแนวหน้าของโลก โช้คหน้าที่เป็นการใช้แรงดันอากาศแทนสปริงนี่ขี่แรกๆ เหมือนจะแข็ง ก็ลองลดแรงดันลง แต่พอเริ่มคุ้นจนมีความเร็วแล้วก็ปรับอีกจนแรงดันมาพอดีตามที่คู่มือแนะนำคือ 8.2 บาร์ ส่วนโช้คหลังรู้สึกรีบาวด์ไวไปนิดปรับ 3 คลิกพอดี ความมั่นใจคล้ายๆ ตอนขี่ FC250 เลย คือวิ่งชนหน้าเนินไปเลย มันตกตรงไหนก็ช่างมันซับได้ไม่เด้ง การเลี้ยวบนพื้นกว้างก็คล้ายกันผมว่ามิติของรถนี่มันได้ คือเรานั่งในตำแหน่งที่คุมรถแล้วเปิดคันเร่งได้ง่าย ยิ่งผ้าหุ้มเบาะที่เป็นลายหยาบหนามใหญ่ๆ นี่เกาะก้นดีเหลือเกินชอบมาก นั่งแล้วไม่ค่อยไหลไปตรงอื่น เบรกก็สมราคาครับงานของเบรมโบ้ ตรงนี้มันทำให้ผมรู้สึกมั่นใจแล้วล่ะว่าโช้คหน้าตัวนี้ WP AER48 เนี่ย เป็นโช้คใช้แรงดันอากาศแทนสปริงที่ให้ความรู้สึกคล้ายการใช้ขดลวดสปริงมากที่สุดแล้ว ณ ตอนนี้ครับ
ขาเกียร์หน้าตาดูแตกต่างนะครับ ลายกันลื่นจะไม่ถี่หยาบ อีกอย่างที่ผมสังเกตคือระยะจากพักเท้าถึงขาเกียร์นี่มันดูจะไกลกว่ารถจากญี่ปุ่นอยู่พอสมควร ผมว่าสะดวกดีไม่ต้องระวังมากว่าจะไปโดนโดยไม่ตั้งใจ แต่การชิพเกียร์ก็ง่ายนะไม่ได้ติดขัดอะไรเลย คงไม่มีอะไรมากมายนอกจากถ้าใจรักแล้วก็ทำความคุ้นเคยกับมันเยอะๆ นะครับ ความสนุกมันจะเกิดก็ตอนที่คุณอยู่ในช่วงที่วาล์วมันเปิด ส่วนมิติตัวรถนั้นมันควบคุมง่ายอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะมีเวลาให้กับมันขนาดไหนเท่านั้น”

ข้อมูลเทคนิค
เครื่องยนต์ 1 สูบ 2 จังหวะ
ปริมาตร 124.8 ซีซี
กระบอกสูบ 54 มม.
ระยะชัก 54.5 มม.
ระบบสตาร์ท เท้า
เกียร์ 6 สปีด
คลัทช์ แบบเปียกหลายแผ่น, ปั๊มไฮดรอลิกมากูระ
เฟรม เหล็กโครโมลิบดินัม
โช้คหน้า หัวกลับ WP AER48 ระยะยุบ 310 มม.
โช้คหลัง โช้คเดี่ยว WP พร้อมกระเดื่อง ระยะยุบ 300 มม.
เบรกหน้า เบรมโบ้ลูกสูบคู่ 260 มม.
เบรกหลัง เบรมโบ้ลูกสูบเดี่ยว 220 มม.
ระยะฐานล้อ 1,485 มม.
สูงถึงเบาะ 960 มม.
ถังน้ำมันจุ 7 ลิตร
น้ำหนักตัวไม่รวมเชื้อเพลิง 87.4 กก.